Availability Calendar
Quick Reservations Best Rates Guarantee
BOOK NOW
MODIFY/CANCEL
Check Availability
Powered by 1HotelRez
สถานที่ท่องเที่ยว

วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม
Post date:September 26 ,2011
 
   
 
วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ และตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรืออยู่ในซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประวัติ

เหตุการณ์ล่วงผ่านไปอดีต เมื่อปี พ.ศ. 1839 พระยามังรายทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย คือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช กษัตริย์ปกครองสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง กษัตริย์ปกครองพะเยา มาสร้างเมืองเวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และตั้งชื่อเมืองว่า “นพบุรี ศรีนครพิงค์” ท่านมีความใฝ่ในศาสนาพุทธ จึงทรงทำนุบำรุง ส่งเสริมศาสนาให้รุ่งเรืองในล้านนา ในขณะนั้น ทางฝ่ายพระเจ้ารามคำแหงมหาราชได้ส่งคนนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาอาศัยอยู่ใน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่พระสงฆ์ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุโขทัย เมื่อพระยามังรายทราบข่าวดังกล่าว จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกาจากพระเจ้ารามคำแหง 5 รูป โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์นี้ โดยจำพรรษาที่วัดการโถม ต่อมาพระยามังรายสร้างวัดเวฬุกัฏฐาราม (ปัจจุบัน คือ วัดอุโมงค์) เมื่อสร้างเสร็จจึงอาราธนาพระมหากัสสปะเถระจำพรรษาที่วัดแห่งนี้

ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ จนถึงสมัยพระเจ้าผายู ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูจนถึงสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช (ประมาณ พ.ศ. 1910) ท่านมีความเลื่อมใสในพระมหาเถระจันทร์ พระเจ้ากือนาจึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน 4 ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้

ราชวงศ์มังรายล่มสลาย เมื่อปี พ.ศ. 2106 เปลี่ยนเป็นพม่าปกครองล้านนา ทำให้วัดอุโมงค์ขาดการทำนุบำรุง ปล่อยให้ร้าง ปรักหักพังเรื่อยๆ ต่อมา เจ้าชื่น ชิโนรส ได้จัดการแผ้วถางบูรณะวัดนี้ และสร้างกุฏิหลังใหม่เพิ่ม จากนั้นจึงนินต์พระภิกษุปัญญานันทะจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา และท่านได้เผยแพร่ศาสนาสืบไป
ภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์

จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณ เพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3 นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเห็นได้ อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์มีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น และการคัดลอกเป็นภาพสี จึงทำให้ยังสามารถเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนาซึ่งมีอายุ กว่า 500 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม
เห็นภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์ได้อย่างไร?

จิตรกรรมผาผนังภายในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ตามสภาพปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก จนหลายคนเข้าใจว่าคงไม่มีภาพจิตรกรรมหลงเหลือแล้ว

แต่จากการสำรวจของโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ กลับพบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังมากกว่าที่คาดคิด เป็นเหตุให้กรมศิลปากรช่วยเหลือโดยจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อมาทำการสำรวจ และอนุรักษ์จิตรกรรมแห่งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2542-กลางปี พ.ศ. 2543

นอกจากนี้คุณภัทรุตม์ สายะเสวี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดอุโมงค์ของกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้เข้าร่วมทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมอีกด้วย โดยการให้คำแนะนำและดูแลการปฏิบัติงานของทีมงานโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรม วัดอุโมงค์ เป็นอย่างดี

ส่วนการอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์นั้นได้นำกระบวนการทางเคมีและ ศิลปะ ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแตทำการสำรวจ, ทำความสะอาดภาพจิตรกรรม, เสริมความแข็งแรงของผนังปูนฉาบ, ชั้นสีของงานจิตรกรรมให้มั่นคงแข็งแรงพร้อมทั้งบันทึกหลักฐานตลอดงานการ อนุรักษ์ทั้งภาพถ่าย แผนผัง และภาพลายเส้น ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวทีมงานได้ค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมด้วยความ บังเอิญ คือ เหตุที่ทำให้อุโมงค์ชำรุดเนื่องจากมีรอยร้าวที่อุโมงค์ เมื่อฝนตกทำให้น้ำไหลซึมเข้ารอยร้าว จึงเกิดการสะสมของหินปูนที่เคลือบลายจิตรกรรมจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทีมงานจึงเอาคราบหินปูนออกโดยใช้น้ำยาเคมีที่ทำให้คราบหินปูนอ่อนตัวลง จากนั้นใช่มีดฝานหินปูนออกทีละนิดจนหมด จึงปรากฏภาพจิตรกรรมที่สวยงาม
สีสันในจิตรกรรม
เสาอโศก ภายในบริเวณวัด

ภาพจำลองจิตรกรรมภายในอุโมงค์สร้างขึ้นโดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากการคัดลอก งานจิตรกรรม และการปฏิบัติงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังด้วยกระบวนการทางเคมี ทำให้สามารถเห็นจิตรกรรมฝาผนังในสภาพเดิมก่อนการชำรุดเมื่อราว 500 ปีก่อน พบว่างานจิตรกรรมนี้มีสีที่ใช้มากอยู่ 2 สี คือสีแดงสด (แดงชาด) และลีเขียวสด สองสีนี้เป็นสีตรงข้าม ส่วนอัตราการใช้สีอยู่ที่ 70:30 หรือ 80:20 ซึ่งตรงกับทฤษฎีสีที่พบในงานจิตรกรรม ในสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงภาพจากการถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล ซึ่งเป็นทฤษฎีสีตรงข้ามตามอัตราส่วนดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า ช่างล้านนาไทยสมัยนั้นรู้จักแนวคิดทฤษฎีสีและองค์ประกอบทางศิลปะก่อนที่ ศิลปะจากตะวันตกจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยภายหลังอีกหลายร้อยปีต่อมา
การสร้างอุโมงค์ของคนโบราณ
พระพุทธรูปภายในช่องอุโมงค์

ชาวล้านนาสร้างอุโมงค์โดยการก่ออิฐถือปูน แล้วฉาบปูนปิดทับโครงสร้างอิฐอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันชั้นปูนฉาบนี้ได้หลุดกะเทาะเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลือก็เพียงส่วนของเพดานโค้งภายในอุโมงค์ที่ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านนอกเกือบทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏชั้นของปูนฉาบแล้ว เหลือเพียงอิฐก่อผนัง และอิฐก่อโครงสร้างอุโมงค์เท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2546 ในระหว่างราวปลายเดือนเมษายน-กันยายน ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อุโมงค์ครั้งใหญ่ที่ดำเนินงานโดยการรับเหมาผ่าน เอกชน ภายใต้การกำกับของกรมศิลปากร มีการซ่อมแซมโครงสร้างของอุโมงค์ให้แข็งแรงขึ้น โดยขุดเปิดหน้าดินที่อยู่เหนืออุโมงค์ทั้งหมดจนลึกถึงระดับเดียวกับพื้น อุโมงค์ จึงพบหลักฐานเพิ่มเติม คือโครงสร้างแต่ละอุโมงค์ก่อด้วยอิฐถือปูน แยกไปแต่ละช่อง โดยเริ่มก่ออิฐเรียงสลับกันจากผนังอุโมงค์ขึ้นมาทั้งสองด้านจนได้ความสูง ระดับที่เป็นเพดานก่ออิฐให้โค้งเข้าหากัน โดยใช้ด้านสันของอิฐที่มีทรงสี่เหลี่ยมคางหมูหันด้านสันเข้าหากัน จึงเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม จำเป็นต้องก่ออิฐผนังหนามากเพื่อรองรับโครงสร้างของอุโมงค์ ส่วนเหนือสุดก็มีการก่ออิฐเหลื่อมเรียงสลับกันปิดอยู่ด้านบนอีกชั้นหนึ่ง และพบว่าพื้นที่ระหว่างอุโมงค์แต่ละช่องนั้นล้วนเป็นดินลูกรังสีน้ำตาลอมส้ม จนถึงระดับพื้นดินทั้งสิ้น ไม่ปนเศษอิฐ ปูน หรือเศษเครื่องเคลือบดินเผาเลย และชั้นดินลูกรังนี้ปิดมิดคลุมเพดานทุกอุโมงค์ด้วย และชั้นบนสุดจะมีอิฐปูทับอีกหลายชั้น ดังนั้น ภายในอุโมงค์ล้วนเป็นดินลูกรังและปิดทับด้วยอิฐภายนอกทั้งสิ้น และไม่มีห้องลับใดๆซ่อนอยู่ในระหว่างอุโมงค์ตามที่สงสัยกันแต่แรกแต่อย่างใด และบ่งชี้ได้ว่าเป็นอุโมงค์ที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากการก่อสร้างของมนุษย์ขึ้นมาอย่างจงใจ
เจดีย์ในวัดอุโมงค์
เจดีย์วัดอุโมงค์

เจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ต่อเนื่องกับอุโมงค์ทางทิศเหนือ ซึ่งอยู่ภายในวัดอุโมงค์เจดีย์วัดอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังระยะแรกของศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรับปรุงมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งในศิลปะพุกาม ครั้นล่วงมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องกับต้นพุทธศตวรรษถัดมา เจดีย์ทรงนี้คลี่คลายไปโดยมีรูปทรงที่สูงโปร่ง และในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังจึงมีการคลี่คลายปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว เพราะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย อีกทั้งเป็นเจดีย์องค์สำคัญยุคต้นๆของพัฒนาการเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา งานก่อสร้างเริ่มขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ามังรายคงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อมาได้รับการบูรณะในรัชกาลของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆังมีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวย ซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวประกอบกันเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย(ปัทมบาท) ตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า ส่วนองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ยังเหลือแบบแผนที่น่าจะเป็นเค้าเดิม คือระเบียบของฐานในผังกลม 3 ฐานซ้อนลดหลั่น เป็นชุดฐานรองรับทรงระฆังใหญ่ ต่อขึ้นไปคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดที่ทรงกรวยประกอบด้วยส่วนสำคัญที่ทางภาคกลางเรียกว่า ปล้องไฉน และปลี ที่ท้องไม้ของบานกลมแต่ละฐานประดับด้วยแถวช่องสี่เหลี่ยมไว้โดยรอบงานประดับ เช่นนี้รวมทั้งขนาดที่ใหญ่ของทรงระฆัง เกี่ยวข้องกับแบบแผนของเจดีย์แบบหนึ่งของพุกาม สร้างเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่18 เช่นเจดีย์ในบริเวณวัดถิทสวดี (Thitsavadi Temple) ในหมู่บ้านปวาสอ (Pwasaw) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.nairobroo.com