Availability Calendar
Quick Reservations Best Rates Guarantee
BOOK NOW
MODIFY/CANCEL
Check Availability
Powered by 1HotelRez
สถานที่ท่องเที่ยว

วัดเจดีย์หลวง
Post date:September 26 ,2011
 
   
 
วัดเจดีย์หลวง หรือ "โชติการาม" หรือ "ราชกูฏา" หรือ "กุฏาราม" ก็เรียก เป็นวัดที่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เลขที่ ๑๐๓ ถนนพระปกเกล้าฯ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัด เชียงใหม่ นับเป็นวัดสำคัญมากวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต เป็นที่ตั้งของเสา หลักเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งศูนย์กลางการบริหารคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตในภาคเหนือ
วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระญาแสนเมืองมา กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๗ ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด และได้รับสร้างต่อมาในสมัยพระญาติโลกราช (พ.ศ.๒๐๒๒ - ๒๐๒๔) การที่ถูกเรียกชื่อว่า "วัดเจดีย์หลวง" เนื่องจากมีพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ("หลวง" หมายถึง ใหญ่)

โบราณวัตถุสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวง
๑. พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๔ สมัยพระเจ้าแสน เมืองมา นับเป็นพระธาตุที่มีความสูงใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา คือ ประมาณ ๘๐ เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๖๐ เมตร ปัจจุบันมีอายุกว่า ๖๐๐ ปี

๒. พระวิหาร พระอุโบสถ พระวิหารหลวง หรือพระวิหารกลาง ปัจจุบันเป็นทั้งพระอุโบสถ ด้วย ตั้งอยู่ห่างพระธาตุเจดีย์หลวงประมาณ ๑๕.๘๔ เมตร ไปทางทิศตะวันออก เป็นสถาปัตยกรรมทรงล้านนาประยุกต์ ส่วนอุโสถหลังเก่าศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมที่อยู่หลังวัด ด้านตะวันตกขององค์เจดีย์หลวงได้เลิกใช้งานตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ เพราะคับแคบเกินไป วิหารที่วัดเจดีย์หลวงนี้หลังแรกซึ่งสร้างครั้งแรกโดยพระนางติโลกจุฑา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกนเมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๔ พร้อมทั้งได้หล่อพระอัฏฐารสพุทธปฏิมาประธานและพระอัครสาวกโมคคัลลาน์ สารีบุตร ไว้ในพระวิหาร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๑๗ พระเจ้าติโลกราชให้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างวิหารหลังใหม่ มีขนาดกว้าง ๙ วา ยาว ๑๙ วา ขึ้นแทนมาในปี พ.ศ.๒๐๕๘ พระเมืองแก้วให้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่ในที่เก่าอีก ครั้นถึงสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ไฟได้ไหม้วิหารเสียหายจึงต้องรื้อแล้วสร้าง ใหม่ทับที่เดิมอีกครั้ง ต่อมาในยุคเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ราชวงศ์ทิพจักร ได้ รื้อวิหารหลังเดิม แล้วสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นที่เดิมอีก ซึ่งวิหารในยุคก่อน ๆ นั้นคงสร้างด้วยไม้ จึงมีการสร้างและรื้อถอนกันได้บ่อย ๆ ส่วนวิหารหลังปัจจุบันได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในยุคเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ โดยสร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.๒๔๗๑

๓. พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ปางห้ามญาติ สูง ๑๘ ศอก หล่อด้วยทองสำริด มีพระอัครสาวก โมคคัลลาน์ สารีบุตร สร้างโดยพระนางติโลกะจุดา(ติโลกจุฑา) นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ หลายขนาดอีกจำนวนมากประดิษฐานอยู่รายล้อมพระอัฏฐารส +++

๔. พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏว่า สร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง พระนอนองค์นี้สร้างด้วยอิฐฉาบปูนปิดทอง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ได้บูรณะใหม่ทาสีทองสำเร็จแทน มีพุทธลักษณ์สวยงามมาก หันเศียรสู่ทิศใต้ พระพักตร์หันเข้าหาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง สูง ๑.๙๓ เมตร ยาว ๘.๗๐ เมตร อยู่ห่างจากพระเจดีย์หลวงไปทางทิศตะวันตก

๕. เจดีย์ขนาดเล็ก เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมแบบเชียงใหม่ มีอยู่ ๒ องค์ ตั้งอยู่กระหนาบ พระวิหารด้านเหนือและด้านใต้ เยื้องไปทางด้านหน้าของวิหารหลวง

๖. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของเจดีย์หลวงและวิหาร เป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก แบบพื้นเมืองเชียงใหม่ ก่ออิฐฉาบปูน

๗. เสาอินทขีล เชื่อกันว่าเป็นหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล หรือวัดสะดือเมือง ข้างศาลากลางหลังเก่า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราช พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๒๔ - ๒๓๕๘) ในราชวงศ์ทิพจักร โปรดให้ย้ายเสาอินทขีล จากวัดสะดือเมือง มาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๓

๘. บ่อเปิง เป็นบ่อน้ำใหญ่ ลึก ก่อด้วยอิฐกันดินพังไว้อย่างดี คำว่า "เปิง" แปลว่า คู่ควร-เหมาะสม เป็นบ่อใหญ่สมกับที่ขุดขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์หลวง ซึ่งในสมัยที่พระเจ้าติโลกราช ทรงสร้างเสริม พระธาตุเจดีย์หลวง (พ.ศ.๒๐๒๒ - ๒๐๒๔) นั้น ทั่วทั้งวัดเจดีย์หลวงมีบ่อน้ำถึง ๑๒ บ่อ ต่อมาถูกถมไปเพื่อเอาพื้นที่สร้างถาวรวัตถุ

๙. พระมหาสังกัจจายน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเล็ก อยู่ห่างจากพระธาตุเจดีย์ไปทาง ทิศเหนือ เชื่อว่ามีความเก่าแก่พอ ๆ กับพระนอน ปัจจุบันพระสังกัจจายน์มี ๒ องค์ องค์ใหม่อยู่ด้านหน้าวัด ติดกับวัดพันเตา สร้างเมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีมานี้เอง

๑๐. ต้นยางใหญ่ในวัดเจดีย์หลวงมีต้นยางใหญ่ ๓ ต้น กล่าวกันว่าอายุกว่า ๒๐๐ ปี

๑๑. กุมภัณฑ์ มีอยู่ ๒ ตน สร้างไว้เพื่อให้คอยรักษาเสาอินทขีล ตนหนึ่งอยู่ด้านหน้าวัด

๑๒. หอธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๗ พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ พร้อมทั้งให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฏก) ไว้ทางด้านเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์

๑๓. กุฏิแก้วนวรัฐ เป็นกุฏิหลังแรกของวัด สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เจ้าแก้วนวรัฐสร้างถวาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑

วัดเจดีย์หลวงทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.nairobroo.com