Availability Calendar
Quick Reservations Best Rates Guarantee
BOOK NOW
MODIFY/CANCEL
Check Availability
Powered by 1HotelRez
สถานที่ท่องเที่ยว

ดอยอ่างขาง
Post date:September 26 ,2011
 
   
 
ดอยอ่างขาง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว สูงประมาณ 1,900 ม. จากระดับน้ำทะเล ภูมิประเทศเป็นเขาหินปูนและหินดินดาน อยู่ติดกับพรมแดนพม่า จึงมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไป มีอากาศหนาวเย็นยาวนานเกือบตลอดปีและมีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาว จึงเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวแห่งแรกของโครงการหลวง โดยเป็นสถานีหลักในการศึกษาวิจัยผลไม้ที่สำคัญที่สุดของประเทศ นักท่องเที่ยวนิยมมาดูขั้นตอนการปลูก การดูแล และการผลิตพืชผักเมืองหนาว ที่เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม

ในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือน ต.ค.-ก.พ. ดอกไม้พันธุ์ไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่น บ๊วย ท้อ นางพญาเสือโคร่ง และอื่นๆ จะออกดอกงามสะพรั่งไปทั่วดอย

ที่ตั้งและการเดินทาง ต. แม่งอน อ. ฝาง

ประวัติ พ.ศ. 2512 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอบเตอร์พระที่นั่ง เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอแดง บ้านห้วยผักไผ่ ต. ม่อนปิน อ. ฝาง ทรงทอดพระเนตรเห็นบริเวณอ่างขาง ซึ่งเป็นหุบเขามีอากาศหนาวเย็น แต่ชาวไทยภูเขาแถบนั้นตัดไม้ทำลายป่าจนโล่ง ทั้งยังปลูกต้นฝิ่นออกดอกพราวไปทั้งดอย สภาพพื้นที่เช่นนี้หากมีการพัฒนาจะสามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินในบ้าน คุ้มประมาณ 10 ไร่ ในราคา 1,500 บาท สำหรับจัดตั้งเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว และขยายมาเป็น 350 ไร่ในปัจจุบัน

สิ่งน่าสนใจ

สถานีเกษตรโครงการหลวงอ่างขาง
- ค่าเข้าชมคนละ 30 บาท รถยนต์พร้อมคนขับ 50 บาท
ที่นี่เป็นสถานที่ทดลองพันธุ์ไม้เมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผักผลไม้ โดยในระยะแรกทำการทดลองปลูกท้อ แอบเปิ้ล สาลี่ บ๊วย ต่อมาจึงทดลองปลูกกีวีฟรุต สตรอเบอรี พลับ รัสเบอรี อโวคาโด เสาวรส และอื่น ๆ ส่วนผักเมืองหนาวมีทั้งผักกาดแก้ว ปวยเล้ง เห็ดหอม แครอท แรดิช อาติโชค กะหล่ำม่วง ไม้ดอก เช่น ลิลลี่ กุหลาบ เยอบีรา และอีกหลายสิบชนิด จึงเหมาะที่จะขึ้นไปท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวซึ่งดอกไม้จะเบ่งบานเต็มไปทั้ง หุบเขา
ภายในสถานีวิจัยยังมีบริเวณที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น

- สวนบอนไซและพรรณไม้เขตกึ่งร้อนและหนาว จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดย มจ. ภีศเดช รัชนี ทรงเห็นว่าภูมิประเทศแถบนี้มีหินปูนโผล่ขึ้นจากดินกระจายอยู่คล้ายภูเขาย่อ ส่วน จึงนำพรรณไม้ทั้งที่เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นและพรรณไม้ต่างประเทศ มาจัดวางให้เป็นหมวดหมู่สวยงาม เช่น สนบอนไซต่างประเทศ ปรงแคระ ต้นหางจระเข้จากทวีปแอฟริกา ต้นแมกโนเลีย เมเปิ้ลหอม แปะก้วยหรือกิงโก ฯลฯ ให้ได้ชมกัน รวมทั้งมีพืชเฉพาะถิ่นหายากหลายชนิด เช่น เฟินข้าหลวงอ่างขาง ต้นหูเสือหมอคาร์ มีลำต้นและดอกคล้ายต้นแอฟริกันไวโอเล็ต เป็นต้น
- สวนสมุนไพรชาวเขา ที่น่าสนใจ เช่น สบู่เลือด ไม้เลื้อยที่มีส่วนหัวสะสมอาหารขนาดใหญ่ น้ำยางสีแดงคล้ายเลือด ใช้บำรุงกำลัง จะค้านหัววอก พืชจำพวกพริกไทที่ชาวจีนฮ่อใช้แก้อาการอ่อนเพลีย ม้าสามต๋อนใช้บำรุงกำลัง และยังมีสมุนไพรอีกสารพัดชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาแถบนี้

บ้านคุ้ม เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่รอบสถานีเกษตรฯ ประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ เช่น ไทยใหญ่ พม่า และจีนฮ่อ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่มานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าและที่พักเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว มีทั้งที่เป็นตึกแถวและหลังคาทรงสามเหลี่ยม

บ้านขอบด้ง เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอดำ (ลาหู่นะ) อยู่ห่างจากสถานีเกษตรฯประมาณ 3 กม. แต่เดิมชาวลาหู่นะถือผีหรือเทวดา ชื่อว่า “กือซา” สามารถบันดาลความสุขหรือความทุกข์แก่มนุษย์ได้ ต่อมาเปลี่ยนไปถือศาสนาคริสต์หรือพุทธบ้าง สมัยก่อนชาวลาหู่นะ ปลูกข้าวไร่และพืชผลต่าง ๆ รวมถึงฝิ่น ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมให้ปลูกสตรอเบอรี ซึ่งทำรายได้ดีกว่าการปลูกฝิ่นมาก ชาวลาหู่นะยังมีฝีมือในการถักกำไลจากหญ้า “ชิ” หรือ “ชิปุแค” ซึ่งแต่ละวงมีสีสันและลวดลายไม่เหมือนกันเลย ถือเป็นศิลปะแบบดั้งเดิมที่น่าสะสม
ที่บ้านขอบด้งยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ฉายแสงแรกของวันที่มีความสวยงามอีกด้วย

บ้านนอแล อยู่ห่างจากสถานีเกษตรฯประมาณ 7 กม. เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่า “ปะหล่อง” อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยอพยพมาอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
“ปะหล่อง” เป็นชื่อที่ชาวไทยใหญ่ใช้เรียก แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ดาละอั้ง” นับถือทั้งผีและพุทธปะปนกัน มีภาษาพูดของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน ติดต่อกับคนนอกเผ่าด้วยภาษาไทยใหญ่ ลักษณะเด่นของชาวเขาเผ่านี้คือ ผู้หญิงทั้งเด็ก หญิง และคนชรา จะสวมห่วงที่ทำจากหวายชุบยางรักจนเป็นมันวาว หรือห่วงโลหะไว้ที่เอวตลอดเวลาทั้งยามทำงาน เข้าป่าหรือนอน โดยใช้เชือกผูกรั้งไว้กับบ่า
ปัจจุบัน “ปะหล่องนอแล” ได้รับการส่งเสริมจากสถานีเกษตรฯ ให้ปลูกพืชผักเมืองหนาว ซึ่งพวกเขาสามารถทำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปลูกกุหลาบ นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมและเลือกซื้อกุหลาบได้

ดูนกบนอ่างขาง ด้วยพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ประกอบด้วยทุ่งกสิกรรม ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ดอยอ่างขางจึงพบนกหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น เช่น นกปรอดภูเขา นกกางเขนน้ำหัวขาว นกปากนกแก้วอกลาย หรือนกอพยพในช่วงฤดูหนาว เช่น นกอีเสือหลังแดง นกเดินดงชนิดต่าง ๆ ถ้าไปช่วงดอกซากุระบานจะพบนกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า และนกแว่นตาขาวได้ง่าย ๆ เพราะมากินน้ำหวานจากดอกซากุระ
สถานที่ดูนกที่น่าสนใจคือ บริเวณทางเดินหลังหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นอกจากนี้ตามป่าเล็ก ๆ หรือไร่ท้อข้างทาง ก็มีนกหลายชนิดให้ดูอีกด้วย

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว เดินทางสู่ดอยอ่างขางได้สองเส้นทาง คือ เส้นทาง ด้าน อ. ไชยปราการ และเส้นทางด้านบ้านอรุโณทัย
ด้าน อ. ไชยปราการ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 จาก อ. เมือง ไปจนถึง อ. ไชยปราการ เมื่อถึงหลัก กม. ที่ 137 บริเวณตลาดแม่ข่า เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1249 อีก 25 กม. เส้นทางสูงชันและคดเคี้ยว หลายช่วงเป็นทางโค้งหักศอก คนขับต้องมีความชำนาญ อันตรายมากถ้าไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะขากลับลงจากดอย
ด้าน บ้านอรุโณทัย จะเป็นถนนลาดยางสองเลน ถนนค่อนข้างแคบ คดเคี้ยว แต่สูงชันน้อยกว่า ด้าน อ. ไชยปราการ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 เมื่อผ่าน อ. เชียงดาว ไปประมาณ 6 กม. เลี้ยวซ้ายที่สามแยกเมืองงาย เข้าทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านเมืองงาย นาหวาย จนถึงด่านตรวจ ตชด. ที่บ้านรินหลวง เลี้ยวขวาไปบ้านอรุโณทัย-ดอยอ่างขาง มีป้ายบอกทางชัดเจนประมาณ 7 กม. ถึงบ้านอรุโณทัย เข้าทางหลวงหมายเลข 1340 ขึ้นดอยไปอีก 45 กม. จะถึงอ่างขาง

รถรับจ้าง จากตลาดแม่ข่า อ. ไชยปราการ นั่งรถสองแถว หรือรถตู้ที่วัดหาดสำราญ ลงรถที่หน้าโครงการหลวงอ่างขาง หากเช่าเหมาขึ้นดอย วันละ 1,400 บาท ค้างคืน 1,600 บาท

ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
นอกจากโรงแรม รีสอร์ต บริเวณบ้านคุ้ม แล้ว มีจุดกางเต็นท์พักแรม อยู่ในสวนสน ริมทางก่อนถึงทางลงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 1 กม. มีห้องน้ำสาธารณะ ค่าบริการ 20 บาท/คน/คืน และยังมีบ้านพักของหน่วยจัดการต้นน้ำด้วย
บริเวณหน้าโครงการหลวง มีย่านร้านค้า ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึกของชาวจีนฮ่อเป็นจำนวนมาก สินค้าขึ้นชื่อคือโสมตังกุย ชาจีน เช่น ชาอูหลง ชาโสม ชาสมุนไพร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.nairobroo.com